วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หลักธรรมในการดำรงชีวิต


หลักธรรมในการดำรงชีวิต

                        นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการในขณะนี้คือการทำงานที่ตั้งอยู่ในศีลในธรรมล่าสุดนี้ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้ชวน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ทุกคนทุกจังหวัด ทุกเขต ไปประชุมปฏิบัติธรรม กันที่จังหวัดเชียงใหม่  ผู้เขียนเองเห็นว่าพวกเราทุกๆคนก็ควรมีหลักธรรมในการดำรงชีวิตเช่นกัน  เริ่มจากธรรมในการครองงานเรียกว่า
อิทธิบาท 4
คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ
๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน
ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่า ดีที่สุด ที่มนุษย์เรา ควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ
วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วย ส่วนหนึ่ง
จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่
วิมังสา หมายถึงความสอดส่องใน เหตุและผล แห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่

ธรรมในการครองตน ทำให้ผู้อื่นรักเราเรียกว่า สังคหวัตถุ 4
                    สังคหวัตถุ 4 หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่
                   1. ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้
                   2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้    เว้นจากการพูดเท็จ   เว้นจากการพูดส่อเสียด  เว้นจากการพูดคำหยาบเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
                    3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
                    4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย

ธรรมสำหรับการครองคน ในการบริหารคนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเรียกว่า พรหมวิหาร 4
                    ความหมายของพรหมวิหาร 4  พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่
                    เมตตา   ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข                     กรุณา            ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
                    มุทิตา    ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี                         อุเบกขา    การรู้จักวางเฉย
            ในโอกาสวันเปิดเรียนนี้ก็หวังใจว่าท่านผู้บริหารโรงเรียน คุณครู กรรมการโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และท่านผู้อ่านทุกๆคน จะทำงานและดำเนินชีวิตบนหลักธรรมแห่งการดำรงชีวิต ที่ถูกต้อง    ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่ผู้เขียนถือปฏิบัติเท่านั้น  ท่านผู้อ่านอาจนำไปปรับใช้ หรือเลือกหลักธรรมที่ท่านชอบ ที่ท่านเลื่อมใส ที่ท่านสามารถปฎิบัติได้ ที่เป็นหลักในการทำงานของท่านเองได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีความสุขและสนุกกับการทำงาน อันจะส่งผลให้การจัดการศึกษาของเรามีคุณภาพสูงขึ้นยิ่งๆขึ้นไป


ขอบคุณข้อมูล จาก
ดร.ชูศักดิ์ ประเสริฐ